ตึกเหลือง ตำนานอันรุ่งเรืองแห่งกองทัพอากาศไทย


ตึกเก่าแก่สีเหลืองตึกนั้น แม้จะเห็นได้ชัดเจนจากลักษณะและสถาปัตยกรรมภายนอกว่ามีอายุใช้งานมานานปี แต่ตึกนั้นก็ยังคงความสง่างามไว้ได้อย่างท้าทายกาลเวลา ตึกแห่งนั้นมีชื่อเรียกตามสีของตึกที่มีสีเหลืองจนเป็นที่รู้จักกันดีของชาวกองทัพอากาศไทยในนาม “ตึกเหลือง”
       “ตึกเหลือง” ตั้งอยู่ที่ถนน เวหาสยานศิลปสิทธิ์ ตรงข้ามกับฝูงบิน ๖๐๔ กองบิน ๖ ในบริเวณกองทัพอากาศที่ดอนเมือง หลายคนอาจจะเพียงผ่านไปมาและไม่ได้ให้ความสนใจกับตึกเก่าแก่แห่งนี้ ด้วยความคุ้นชิน ด้วยว่า “ตึกเหลือง”ดูราวกับได้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวทัพฟ้ามาตลอดจนอาจไม่รู้สึกว่าเป็นสถานที่พิเศษ แต่ด้วยความยั่งยืนยาวนานที่ตึกเหลืองได้คงอยู่ตราบมาจนทุกวันนี้ ทำให้ตึกแห่งนี้มีตำนาน และประวัติเกี่ยวข้องสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชีวิตของผู้คนและข้าราชการแห่งกองทัพอากาศไทยมาอย่างต่อเนื่อง
       “ตึกเหลือง”ได้ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ในช่วงต้นของสงครามมหาเอเชียบูรพา(สงครามโลกครั้งที่ ๒ ) ในสมัยนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชื่อพลเอก ฮิเดกิ โตโจ และผู้บัญชาการทหารญี่ปุ่นในไทยขณะนั้นคือ พลโท อาเคโตะ นากามุระ “ตึกเหลือง”ถูกใช้ให้เป็นที่ตั้งของกองกำลังทหารญี่ปุ่นในการต่อต้านกองกำลังของพันธมิตร ในสงครามมหาเอเชียบูรพา ในปี พ.ศ.๒๔๘๔ – ๒๔๘๘
ในช่วงสงครามเมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ ได้มีการบินโจมตีสนามบินดอนเมือง
เครื่องบินขับไล่แบบ P-51D Mustang สังกัดกองบินน้อยปฏิบัติการพิเศษที่ ๒ แห่งกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา โดยมี ร้อยเอก อัลเบิร์ต อัมบราฮัม บินเข้าโจมตีตึกเหลือง ในการปฏิบัติการครั้งนั้นกองทัพสหรัฐได้ใช้เครื่องบินรบทั้งหมด ๔๐ ลำ เดินทางออกจากฐานบินที่ คอกซ์บาซาร์ (Cox’s Bazaar) ที่ประเทศอินเดีย เพื่อระดมโจมตีสนามบินดอนเมือง ตึกเหลืองตกเป็นเป้าของการโจมตีในครั้งนั้นอย่างหนักด้วยเช่นกัน แต่ผลปรากฏว่าเครื่องบินของสหรัฐอเมริกาถูกยิงตกที่สนามบินดอนเมือง ๑ ลำ มีนักบินเสียชีวิตคือ ร้อยเอก วาเรน โมดิน และนักบินสหรัฐอีก ๓ นายถูกจับเป็นเชลยศึก

หลังจากสงครามมหาเอเชียบูรพา(สงครามโลกครั้งที่ ๒) ได้สิ้นสุดลง “ตึกเหลือง” ถูกใช้ให้เป็นกองบัญชาการของทหารพันธมิตรต่อไป

บริเวณด้านหลัง “ตึกเหลือง” (ส่วนที่ปัจจุบันนี้เป็นที่จอดรถบริการทหารอากาศดอนเมือง) เคยเป็นบริเวณที่ใช้เป็นที่ผ่าศพของทหารพันธมิตรที่เสียชีวิต และได้มีการเอาอวัยวะภายในออกจากศพและใส่นุ่นเข้าไปแทนก่อนที่จะเย็บศพให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยเพื่อส่งกลับไปยังประเทศของเหล่าทหารพันธมิตร แม้จนทุกวันนี้หลายคนยังได้พบเห็นด้วยตาตนเองว่า ในช่วงดึกๆของบางคืนมีชายแก่ผมขาว เดินอยู่บริเวณ “ตึกเหลือง”ด้วย ซึ่งเรื่องราวในลักษณะเช่นนี้เป็นเรื่องที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ แต่ก็ไม่สมควรลบหลู่ ทุกอย่างอาจจะเป็นไปได้สำหรับตึกเก่าแก่ที่มีอายุยาวนานและผ่านกาลเวลา ผ่านการใช้งานมาอย่างหลากหลายหน้าที่อย่างโชกโชนเช่น “ตึกเหลือง”แห่งนั้น
       ในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ “ตึกเหลือง” ได้รับการปรับเปลี่ยนบทบาทให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรืออากาศ โดยมีพิธีเปิด โรงเรียนนายเรืออากาศอย่างเป็นทางการในวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ เวลา ๙ นาฬิกา “ตึกเหลือง”จึงได้มีภารกิจใหม่กลายเป็นสถานที่หล่อหลอมนักเรียนนายเรืออากาศรุ่นแรกจำนวน ๓๐นายให้ได้เป็นช่อชัยพฤกษ์ช่อแรกอันงดงามของกองทัพอากาศไทย
       จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ในรุ่นของนักเรียนเตรียมนายเรืออากาศรุ่นที่ ๒ (หรือ นักเรียนนายเรืออากาศรุ่นที่ ๗) นักเรียนนายเรืออากาศที่ได้เคยใช้“ตึกเหลือง”เป็นที่ร่ำเรียนทั้งหมด ได้ย้ายไปใช้สถานที่ศึกษาแห่งใหม่คือโรงเรียนนายเรืออากาศในปัจจุบันนี้
       แต่ประโยชน์ใช้สอยของ“ตึกเหลือง”ไม่ได้จบสิ้นเพียงนั้น ด้วยว่าเมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ กรมสวัสดิการทหารอากาศ ได้ย้ายเข้ามาใช้ “ตึกเหลือง”เป็นที่ทำการ จากที่เคยอยู่เดิมที่ อาคารที่พักนักกีฬาทหารอากาศ ซึ่งปัจจุบันเป็นอาคารฝึกและทดสอบสมรรถภาพทหารอากาศ ด้านข้างสนามกีฬาจันทรุเบกษา
       ปัจจุบันนี้“ตึกเหลือง”ก็ยังได้ “ปฏิบัติราชการ”ให้แก่กองทัพอากาศไทยในฐานะที่ตั้งอันสง่างามของกรมสวัสดิการทหารอากาศอยู่ดังเดิม
       อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก มีการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ของกรมช่างโยธาทหารอากาศเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๕๑ พบว่า “ตึกเหลือง”อันเกรียงไกรหยัดยืนมาแต่อดีตกาลนั้น อาจไม่เหมาะที่จะใช้เป็นสถานที่ราชการต่อไปได้อีกนานนัก เนื่องจากโครงสร้างของตึกมีความเสียหายไปตามกาลเวลา เนื้อปูนแตกร่อน ไม่ยึดติดโครงเหล็กเดิมซึ่งกัดกร่อนเป็นสนิม เรื่องความมั่นคงของตึกเหลืองนี้นอกจากจะหย่อนคลอนขาดความแข็งแรงไปตามกาลเวลาแล้ว ยังเป็นไปได้ว่ามีอีกสาเหตุหนึ่งที่สืบเนื่องมาจาก การก่อสร้าง “ตึกเหลือง”แต่เดิมที่เป็นการก่อสร้างโดยไม่ได้ใช้เสาเข็ม เป็นเพียงการก่อไม้ซุงวางเรียงเป็นฐานรากของตึกเท่านั้น
       ในช่วงมหาอุทกภัยในปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา ทั่วบริเวณของกองทัพอากาศได้ถูกน้ำท่วมทั้งหมด - ทั้งที่พักอาศัย และสถานที่ราชการต่างๆ ตึกเหลืองก็ถูกน้ำท่วมด้วยเช่นกัน และได้รับความเสียหาย หลายปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับความแข็งแรงของตึก ส่อให้เห็นถึงความไม่ปลอดภัยของผู้ที่จะต้องใช้ “ตึกเหลือง”ต่อไป

 อีกไม่นานตึกเหลืองอันสวยงามและเปี่ยมด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ อาจจะต้องถูกยกเลิกการใช้งาน และ ได้รับการอนุรักษ์ไว้ให้เป็น“ตึกเหลือง” ที่เหลือเป็นเพียงตำนานหนึ่งอันรุ่งเรืองของกองทัพอากาศไทย เท่านั้น

 

 

บทความโดย
น.อ.หญิง จุฬารัตน์ ชาติดำรงค์
นปส.สก.ทอ.

* * * * * * * * * * * * * * *


อ้างอิง : 1.พล.อ.ต.พร้อม ไกรสรรณ อดีตเจ้ากรมสวัสดิการทหารอากาศ
2.น.อ.ศักดิ์พินิต พร้อมเทพ รองเจ้ากรมสารบรรณทหารอากาศ
3.หนังสือ ๕๐ ปี โรงเรียนนายเรืออากาศ
4.แผนกประวัติศาสตร์ กองประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ทหาร